วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

                 

                           ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล

   

     ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูลในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ ณ ที่ใด สันนิษฐานว่าในสมัยนั้น ไม่มีเมืองสตูล คงมีแต่หมู่บ้านเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบชายฝั่งทะเล

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งอยู่ในเขตเมืองไทรบุรี ฉะนั้นประวัติความเป็นมาของจังหวัดสตูล จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเมืองไทรบุรี ดังปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแตกแยกกันเป็นสองพวก คือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพวกพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับเมืองนครศรีธรรมราช พวกเมืองสตูลคงจะมาฟังบังคับบัญชาสนิทสนมข้างเมืองนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้เพียง ๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูล ต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูลและฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"

เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลยังปรากฏในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฏบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมือง ตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาเมืองไทรบรี เมืองเปอร์ลิส และเมืองสตูลเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า "มณฑลไทรบุรี" โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมาลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) จากหนังสือสัญญานี้ยังผลให้ไทรบุรีและปลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนสตูลคงเป็นของไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๓)

     

ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

   

คำว่า"สตูล" มาจากคำภาษามาลายูว่า "สโตย" แปลว่ากระท้อน อันเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่เมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งสมญานามเป็นภาษามาลายูว่า "นครสโตยมำบังสการา (Negeri Setoi Mumbang Segara) " หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา  ดังนั้น "ตราพระสมุทรเทวา" จึงกลายเป็นตราหรือสัญลักษณ์ของจังหวัดมาตราบเท่าทุกวันนี้

 จังหวัดสตูล แม้จะอยู่รวมกับไทรบุรีในระยะเริ่มแรกก็ตาม แต่จังหวัดสตูลก็เป็นจังหวัดที่มีดินแดนรวมอยู่ในประเทศไทยตลอดมา ระยะแรก ๆ จังหวัดสตูล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๒ อำเภอ กับ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอมำบัง อำเภอทุ่งหว้า และกิ่งอำเภอละงู ซึ่งอยู่ในการปกครองของอำเภอทุ่งหว้า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล สำหรับอำเภอทุ่งหว้า ซึ่งในสมัยก่อนนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือกลไฟจากต่างประเทศติดต่อ ไปมาค้าขายและรับส่งสินค้าเป็นประจำ สินค้าสำคัญของอำเภอทุ่งหว้า คือ "พริกไทย" เป็นที่รู้จักเรียกตามกันในหมู่ชาวต่างประเทศว่า"อำเภอสุไหวอุเป " ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๗ การปลูกพริกไทยของอำเภอทุ่งหว้าได้ลดปริมาณลง ชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายต่างพากันอพยพกลับไปยังต่างประเทศ ราษฎรในท้องที่ก็พากันอพยพไปหาทำเลทำมาหากินในท้องที่อื่นกันมากโดยเฉพาะได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่กิ่งอำเภอละงูมากขึ้น ทำให้ท้องที่กิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้นอย่างรวมเร็ว และในทางกลับกัน ทำให้อำเภอทุ่งหว้าซบเซาลง

 ครั้งถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการพิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้น มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าอำเภอทุ่งหว้า จึงได้ประกาศยกฐานกิ่งอำเภอละงูเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอละงู และยุบอำเภอทุ่งหว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอทุ่งหว้า เรียกว่า กิ่งอำเภอทุ่งหว้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอละงู ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กิ่งอำเภอทุ่งหว้าจึงได้รับสถานะเดิมกลับคืนมาเป็นอำเภอทุ่งหว้า

ปัจจุบันจังหวัดสตูล แบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ  คือ

๑. อำเภอเมืองสตูล

๒. อำเภอละงู

๓. อำเภอควนกาหลง

๔. อำเภอทุ่งหว้า

๕. อำเภอควนโดน

๖. อำเภอท่าแพ

๗. อำเภอมะนัง



                                             แผนที่จังหวัดสตูล



 

                                   แผนที่ท่องเที่ยวเกาะแก่งต่างๆ



 

 

 

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ......มรดกแห่งอาเซียน

ต. เกาะสาหร่าย อ.เมือง

มื่อเอ่ยชื่อจังหวัดสตูล  ทุกคนต้องรู้จักเกาะตะรุเตา  เนื่องจากเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์  เมื่อสมัย  60  ปีที่แล้ว  เกาะแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษเป็นที่มาของโจรสลัดตะรุเตาที่อื้อฉาว  ล่วงมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน  2517  ได้ประกาศจัดตั้งเป็น “ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่  8  ถือเป็นอุทยานทางทะเลแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็น “มรดกแห่งอาเซียน” ( ASEAN  Heritage  Parks and  Reserves ) เป็นสถานที่ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา  เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกมาศึกษาและเยี่ยมชมตลอดไป

อุทยานแห่งชาติตะรุเตาตั้งอยู่ในหมู่ที่ 7  ตำบลเกาะสาหร่าย  อำเภอเมืองสตูล  บริเวณช่องแคบ          มะละกาในทะเลอันดามัน  มหาสมุทรอินเดีย   ระยะห่างจากตัวจังหวัด  ประมาณ  40  กิโลเมตร  และห่างจากเกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซีย  ประมาณ  5  กิโลเมตร  อุทยานแห่งชาติตะรุเตามีพื้นที่ทั้งหมด  1,490  ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ  931,250.00 ไร่  แบ่งเป็นพื้นที่ทะเล  763,625.00 ไร่  และพื้นที่บกและป่าไม้  167,625.00  ไร่  ประกอบด้วยหมู่เกาะสำคัญ  2   หมู่เกาะ ได้แก่  หมู่เกาะตะรุเตา กับ หมู่เกาะอาดัง – ราวี  มีเกาะใหญ่น้อยจำนวน 51 เกาะ  กระจายกันอยู่ในทะเลอันดามัน
 การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตามี  2  เส้นทาง  เส้นทางแรกคือ  ท่าเทียบเรือปากบารา  ตั้งอยู่หมู่ที่ 2  ตำบลปากน้ำ  อำเภอละงู  เป็นท่าเรือน้ำลึกมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของอุทยาน  ท่าเรือปากบาราอยู่ห่างจากอ่าวพันเตมะละกา  22  กิโลเมตร  เส้นทางที่สองคือท่าเรือตำมะลัง  อำเภอเมืองสตูล  มีเรือเฟอร์รี่เดินทางติดต่อกับอ่าวตะโละวาว  ด้านตะวันออกของเกาะตะรุเตา  สำหรับผู้ที่ต้องการไปท่องเที่ยวที่หมู่เกาะอาดัง  สามารถออกเดินทางจากท่าเรือปากบาราและท่าเรือตำมะลัง  ได้เช่นกัน


 

หมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะไข่ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดง เกาะลองกวย

ต. เกาะสาหร่าย  อ.เมือง

เกาะหลีเป๊ะ

ต.เกาะสาหร่าย  อ.เมือง
หลีเป๊ะเพี้ยนมาจากคำภาษามลายู “นิปิส” แปลว่า “บาง”  เป็นชื่อเกาะเล็ก ๆ อยู่ห่างจากเกาะอาดังไปทางทิศใต้ราว 1 กิโลเมตร  มีขนาดเล็กกว่าเกาะอาดังประมาณหนึ่งเท่า  แต่เป็นเกาะที่มีความสำคัญ    เนื่องจากลักษณะของเกาะเป็นที่ราบทั่วไป  ส่วนที่เป็นภูเขามีเพียงเล็กน้อย  เกาะนี้จึงมีผู้คนอาศัยกว่าหนึ่งพันคนเป็นชาวเกาะหรือชาวพื้นเมืองเดิมรู้จักกันในชื่อ “ชาวเล” หรือ “ชาวน้ำ”  นั่นเอง   มีโรงเรียนตั้งอยู่บนเกาะแห่งนี้  เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 3 ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง” ชื่อของโรงเรียนจึงไม่สอดคล้องกับชื่อเกาะ

ทุกวันนี้  เกาะหลีเป๊ะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัสชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเล  ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา  พวกชาวเลใช้ภาษาตระกูลออสโตรเนเชียน  บางคำก็ยืมมาจากภาษามลายู  เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาตินิยมไปท่องเที่ยวกันมากในแต่ละปี  ทำให้วิถีชีวิตของชาวเลแตกต่างไปจากเดิม
จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ  คือ  มีหาดทรายขาวสะอาด  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก  ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเล  ย่านชุมชนใหญ่ของเกาะ  ด้านทิศตะวันตกมีหาดทรายยาวชื่อเรียกเป็นภาษามลายูว่า “ หาดปะไตดายา”  หรือ “หาดลมตะวันตก”  นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกเรียกเพี้ยนเป็น “พัทยา”   จนติดปากผู้คนไปแล้วเอกชนปลูกสร้างรีสอร์ทไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว  บริเวณหาดด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของเกาะหลีเป๊ะ กิจการท่องเที่ยวจึงเฟื่องฟูมากทุกวันนี้
เกะหลีเป๊ะมีความสวยงามตามธรรมชาติไม่แพ้เกาะอาดัง  รอบ ๆ เกาะอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังหลากสีสัน  นักท่องเที่ยวชอบนำชุดประดาน้ำ  เพื่อดำลงไปชมความงามของปะการังใต้น้ำ  นอกจากนั้น  เกาะหลีเป๊ะมีจุดเด่นตรงที่ยามน้ำลด  จะปรากฏส่วนกว้างใหญ่ของปะการังโผล่ขึ้นมาให้เห็น สามารถลงไปสัมผัสกับปะการังนั้นโดยตรง  ช่วยให้บรรยากาศการท่องเที่ยวน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง


ถ้ำลอดปูยู..........สตูลก็มีถ้ำลอดเหมือนพังงา

หมู่ที่ 2 ต. ปูยู อ.เมือง
ถ้ำลอดปูยูเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทะเลบัน  ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3  ตำบลปูยู  อำเภอเมืองสตูล  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราว  15  กิโลเมตร  การเดินทางไปเที่ยวที่ถ้ำแห่งนี้สะดวกที่สุดคือลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง  ซึ่งเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล  เรือจะแล่นสู่ปากอ่าว  ลัดเลาะไปตามลำคลอง  สองข้างอุดมด้วยป่าโกงกาง  มองเห็นสันเขายาวเหยียด  พาดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก  คือทิวเขาสันกาลาคีรี 
ซึ่งกั้นเขตประเทศไทยกับมาเลเซียไว้

ถ้ำลอดปูยูแตกต่างจากถ้ำทั่วไป  มีคลองลอดในถ้ำคือมีภูเขาคร่อมคลองเอาไว้  ชื่อภูเขากับชื่อคลองเป็นชื่อเดียวกัน  คือ  “เขากายัง”  กับ  “คลองกายัง”   ก่อนลอดถ้ำคลองจะกว้าง  แต่พอลอดเข้าถ้ำ  คลองค่อยแคบลงหรือสอบเข้ามา  หลังคาถ้ำมีความโค้งเล็กน้อย  ความยาวของช่วงที่ลอดถ้ำประมาณ  30  เมตร  ถ้าช่วงน้ำลงเรือจะลอดผ่านไปมาได้สะดวก  แต่ถ้ำน้ำขึ้นสูง เรือจะลอดผ่านได้ค่อนข้างลำบาก  จุดเด่นของถ้ำลอดปูยู  คือ หน้าผาสูงชันของเขากายัง  แท่งหินที่มีรูปร่างประหลาดกับหินงอกหินย้อยที่ปรากฏตามเพดานถ้ำ  อีกด้านหนึ่งจะมีป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์
ถ้ำลอดปูยูมีลักษณะคล้ายคลึงกับถ้ำลอดที่พังงา  ต่างกันตรงที่ว่า  พังงาอยู่ในทะเล  แต่ถ้ำลอดปูยูตั้งอยู่บริเวณป่าชายเลน  เป็นภูเขาคร่อมคลอง  นอกจากนั้นผู้ที่ไปเที่ยวที่ถ้ำลอดปูยู  ยังมีโอกาสไปเที่ยวถ้ำกายัง  ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนัก  เป็นถ้ำขนาดเล็ก   มีความสวยงาม อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอุทยานขณะนี้

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล....ศูนย์รวมวัฒนธรรมเมืองสตูล

 ต. พิมาน อ.เมือง
เป็นลักษณะอาคารตึก 2 ชั้น การก่อสร้างเป็นศิลปะที่ผสานกันอย่างสวยงาม คือ อาคารตัวตึกเป็นแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งสถาปัตยกรรมโรมัน หลังคาแบบช่องลมด้านบนตกแต่งรูปดาวซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบมุสลิม ภายในมีห้องจัดแสดงโบราณวัตถุและห้องจัดนิทรรศการ ให้ความรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรม ประเพณี

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล  ( คฤหาสน์กูเด็น )  ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี  ซอย 5  เขตเทศบาลเมืองสตูล อยู่ตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล  เป็นอาคารเก่าแก่สร้างขึ้นสมัยพระยาภูวนารถภักดีเป็นผู้ว่าราชการเมือง  ตัวอาคารมีอายุ  100 ปีเศษ  นับเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสตูล กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่  14 กุมภาพันธ์  2532 ได้เริ่มบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537  เป็นต้นมา  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน  2543  พิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมในวันพุธถึงวันอาทิตย์  ตั้งแต่เวลา  09.00  -  16.00  น.  ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หยุดในวันจันทร์และอังคาร


การเดินทาง

icon_car.jpg (808 bytes)รถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านเข้าเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง จากพัทลุงไปอำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 406 ถึงจังหวัด สตูลระยะทาง 973 กม.

icon_bus.gif (237 bytes)รถโดยสารเปิดบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศและรถธรรมดา ระหว่างกรุงเทพฯ-สตูล ทุกวัน มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 ชม. ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ รถปรับอากาศ โทร. 435-1199, 435-1200 และ 434-1792

icon_railway.gif (1048 bytes)ทางรถไฟการเดินทางโดยรถไฟ สามารถเดินทางไปกับขบวนรถกรุงเทพฯ-ยะลา หรือ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ได้โดยลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นนั่งรถแท็กซี่ หรือรถประจำทางเข้าจังหวัดสตูลระยะทางประมาณ 97 กม. ติดต่อสอบถามรายละเอียดกำหนดการเดินรถไฟได้ที่หน่วยบริการเดินทางการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010, 223-7020, 225-0300 ต่อ 5100

icon_airway.gif (964 bytes)ทางอากาศ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด คล้ายกับการเดินทางรถไฟ คือ ต้องไปลงที่สนามบินหาดใหญ่ แล้วต่อรถแท็กซี่เข้าจังหวัดสตูลอีกประมาณ 97 กม. ติดต่อรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ถนนหลานหลวง โทร. 280-0060-89







หมู่เกาะอาดัง-ราวี เป็นเกาะกลุ่มสุดท้ายของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ จึงมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เรือนแถวรับรอง ลานกางเต็นท์ และร้านอาหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอุทยานฯ และยังมีชายหาดที่สวยงาม มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ มีนกป่านานาชนิด รวมทั้งยังมีปะการังน้ำตื้นซึ่งเหมาะสำหรับการดำน้ำแบบสน๊อกเกิ้ล

เกาะไข่  เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวเนียนละเอียดและมีช่องหินที่สามารถลอดผ่านได้ อันเป็นปฎิมากรรมปั้นแต่งจากธรรมชาติที่สวยงามจึงได้รับเลือกเป็นเกาะสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล

เกาะหินงาม เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ไม่มีหาดทรายแต่เป็นหาดที่มีก้อนหิน กรม รี วางเรียงรายอยู่เต็มเกาะ ยามน้ำทะเลซัดขึ้นมาก้อนหินเหล่านี้จะเปียกชุ่ม ส่องประกายมันวาวสะท้อนไปทั่วหาดหิน ยามน้ำลงแนวหาดหินจะปรากฏกว้างยิ่งขึ้นและจะตัดกับน้ำทะเลสีมรกต  ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สวยงามที่หาดูได้ยากในที่อื่น ๆ
เกาะยาง  เป็นแหล่งดำน้ำชมปะการังและฝูงปลาที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่ง ด้านหน้าเกาะมีหาดทรายขาวนวล น้ำทะเลสีสวย
เกาะดง เป็นเกาะใหญ่และมีเกาะบริวารเล็ก ๆ ทางทิศใต้อีก 6 เกาะ ภูมิประเทศบนเกาะส่วนใหญ่เป็นโขดหินและหน้าผาสูงชัน มีป่าที่สมบูรณ์ ส่วนเกาะบริวารที่รายรอบนั้นเป็นเกาะหินขนาดเล็ก เช่น เกาะหินซ้อน ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะดงประมาณ 200  เมตร ลักษณะโดดเด่นคือ มีก้อนหินตั้งเป็นชั้น ๆ ด้านหน้าเกาะ มีแหล่งดำน้ำตื้นชมปะการังและฝูงปลาได้
เกาะลองกวย  มีจุดเด่นคือ มีชายหาดทรายที่ขาวสะอาด มีลักษณะเป็นแหลมสามเหลี่ยมยื่นออกไปในทะเล มีโขดหินระเกะระกะที่หัวเกาะ เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเกาะราวีที่ทอดตัวยาวอยู่ทางขวา